วันจันทร์ที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2558

ขั้นตอนและวิธีการทำค่ายบำบัดรักษา

1.  ประเมินสภาพปัญหาของผู้ติดยาที่จะเข้าค่ายบำบัด

2.  บำบัดรักษาผู้ที่มีอาการถอนยา ตามสภาพปัญหาของผู้ติดยา
3.  จัดให้มีการสอนและฝึกอบรมด้านวิชาชีพแก่ผู้ติดยา
4.  จัดให้มีกิจกรรมนันทนาการ เพื่อลดความเครียด
5.  จัดให้มีกิจกรรมกลุ่มบำบัด เพื่อเป็นการรักษาทางด้านจิตใจ
6. จัดให้มีกิจกรรมบำบัดรักษาและพัฒนาคุณค่าชีวิตทางด้านศาสนา เพื่อเสริมความเข้มแข็งทางด้านจิตใจ
7.  จัดให้มีกิจกรรมอื่นๆที่เสริมสร้างและฟื้นฟูสมรรถภาพทั้งทางด้านร่างการและจิตใจ เช่น การออกกำลังกาย การทำสมาธิ การสร้างงานอดิเรก เป็นต้น
ค่าใช้จ่ายในการบำบัดรักษา
         ค่าใช้จ่ายจะมากน้อยแตกต่างกันออกไปตามลักษณะของสถานพยาบาลและเวลาที่ใช้ในการรักษา ถ้าเป็นสถานพยาบาลของเอกชน ค่าใช้จ่ายจะอยู่ที่ 10,000 – 20,000 บาท ต่อสัปดาห์ แต่ถ้าเป็นสถานพยาบาลของรัฐจะเสียค่าใช้จ่ายน้อยกว่านี้ และมีหน่วยงานคอยช่วยเหลือผู้เข้าบำบัดรักษาตามสภาพปัญหาของแต่ละบุคคล

การบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด

      การบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด หมายถึง การดำเนินงานเพื่อแก้ไชสภาพร่างกายและจิตใจของผู้ติดยาเสพติดให้เลิกจากการเสพ และสามารถกลับไปดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างปกติสุข
การบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติดมีกระบวนการบำบัดอยู่ 3 ระบบคือ
•  ระบบสมัครใจ คือ การเปิดโอกาสให้ผู้ติดยาเสพติดที่ต้องการเลิกสามารถเข้ารับการบำบัดในสถานพยาบาลต่างๆทั้งภาครัฐและเอกชน
•  ระบบต้องโทษ คือ การที่ผู้ติดยาเสพติดกระทำความผิดเกี่ยวกับคดียาเสพติดและถูกคุมขัง ซึ่งจะต้องรับการบำบัดในสถานพยาบาลภายใต้ขอบเขต เช่น กรมราชทัณฑ์ กรมคุมประพฤติและสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน เป็นต้น
•  ระบบบังคับ คือ การใช้กฎหมายบังคับตามพระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ. 2534 โดย ศูนย์ฟื้นฟุสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด เป็นผู้บำบัดรักษา
ขั้นตอนการบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด
•  ขั้นเตรียมการก่อนบำบัดรักษา ประกอบไปด้วยขั้นตอนต่อไปนี้
•  สัมภาษณ์ประวัติผู้ติดยา
•  การลงทะเบียนประวัติ
•  แนะนำและชี้แจงวิธีการบำบัดรักษาทางการแพทย์
•  แนะนำและชักชวนให้ครอบครัวมีส่วนร่วมในการบำบัด
•  ตรวจสุขภาพของผู้ติดยาเสพติด
•  ขั้นตอนการรักษา เช่น การบำบัดอาการทางกายที่เกิดจากการใช้ยาเสพติด เพื่อช่วยระงับความต้องการยา ซึ่งขั้นตอนนี้จะเป็นการถอนพิษตามสภาพร่างกายและชนิดของยาเสพติดที่ใช้ เพื่อรักษาอาการขาดยา และสภาวะแทรกซ้อนต่างๆทั้งทางร่างกายและจิตใจ
•  ขั้นตอนการฟื้นฟูสมรรถภาพ เป็นขั้นตอนที่สำคัญที่สุด โดยจะทำการฟื้นฟูสภาพร่างกายและจิตใจของผู้ที่ติดยาเสพติด โดยมีเจ้าหน้าที่บำบัดหลายๆฝ่ายร่วมกัน เช่น นักจิตวิทยา แพทย์ นักสังคมสงเคราะห์ ครูอาชีวบำบัด เป็นต้น
•  ขั้นตอนติดตามผล เป็นการติดตามผลดูแลผู้ที่เลิกยาหลังจากที่ผ่านขั้นตอนทั้ง 3 มาแล้ว เพื่อให้คำแนะนำ กำลังใจ และช่วยแก้ปัญหาของผู้ที่ติดยาเสพติดไม่ให้หันกลับมาเสพอีก โดยวิธีการต่อไปนี้
•  การติดตามผลทางตรง คือการพบปะพูดคุยกับผู้ป่วยโดยตรง
•  การติดตามผลทางอ้อม คือการพูดคุยทางโทรศัพท์ จดหมายหรือผ่านบุคคลที่ 3
รูปแบบการบำบัดรักษาผู้ติดยา
•  การบำบัดรักษาทางร่างกาย มี 3 วิธี คือ
•  การบำบัดแบบการแพทย์แผนปัจจุบัน เช่นการบำบัดรักษาโดยใช้ยาอื่นแทนเพื่อถอนพิษ มีรูปแบบการบำบัดดังนี้
•  ใช้ยาอื่นทดแทน เพื่อถอนพิษยาเสพติด ทำให้ผู้เสพหมดความต้องการทางยาซึ่งยาที่จะเข้าไปแทนต้องเป็นยาที่ให้โทษน้อยกว่า
•  การให้ยาเพื่อต้านฤทธิ์ยาเสพติด
•  การรักษาเพื่อให้คงสภาพการติดยา เช่น การให้สารเสพติดแก่ผู้เสพ ภายใต้การควบคุมของแพทย์ในปริมาณที่ลดลงเรื่อยๆ
•  การบำบัดแบบการแพทย์แผนโบราณ มีรูปแบบการบำบัดรักษาดังนี้
•  บำบัดรักษาโดยใช้ยาสมุนไพร นิยมใช้ตามสำนักสงฆ์ โดยนำสมุนไพรมาใช้เพื่อการล้างพิษโดยให้ผู้ป่วยดื่มซึ่งจะทำให้อาเจียนและถ่ายออกมา
•  การฝังเข็ม เช่น การใช้หลักวิชาการแพทย์สมัยโบราณโดยใช้เข้มฝังตามจุดต่างๆของร่างการพร้อมทั้งต่อสายไฟและปล่อยกระแสอ่อนๆเข้าสู่ร่างกาย
•  การบำบัดรักษาโดยวิธีอื่นๆ เช่น
•  การหักดิบ เป็นวิธีการที่ให้ผู้ที่ติดยาเสพติดเลิกเสพยาโดยทันทีโดยไม่ต้องใช้ยาอื่นมาทดแทน ผู้เสพจะมีอาการเสี้ยนยาอย่างรุนแรงใน 5 วันแรก ถ้าผ่านช่วงนี้ไปได้จะทำให้เข็ดไม่กล้ากลับมาเสพอีก
•  การบำบัดโดยใช้เครื่องกระตุ้นไฟฟ้ากำลังต่ำตามจุดต่างๆของร่างกาย ทำให้เกิดการเลิกยาได้
•  การบำบัดรักษาทางด้านจิตใจ มี 4 วิธี คือ
•  วิธีจิตบำบัด เพราะโดยทั่วไปผู้ที่ติดยาเสพติดมีสาเหตุจากด้านจิตใจ ดังนั้นการฟื้นฟูสภาพจิตใจให้เข้มแข็งขึ้น ทำให้ผู้ติดยาสามารถแก้ปัญหาต่างๆได้โดยไม่ต้องพึ่งยาเสพติดอีกต่อไป วิธีจิตบำบัดมี 3 รูปแบบคือ
•  การให้คำปรึกษาเป็นการรายบุคคล
•  การให้คำปรึกษาเป็นกลุ่ม
•  การให้คำปรึกษาแก่ครอบครัว
•  วิธีบำบัดยาเสพติดโดยใช้ศาสนา เนื่องจากผู้ที่ติดยาเสพติดมักมีปัญหาแก้ไขไม่ได้ จึงหันไปพึ่งยาเสพติด การนำหลักธรรมศาสนามาช่วยจะทำให้ผู้ที่เสพยาเสพติดมีจิตใจที่เข้มแข็งขึ้น รู้จักแก้ไขปัญหาได้อย่างเหมาะสม
•  วิธีการบำบัดรักษาแบบชุมชนบำบัด เป็นวิธีการบำบัดที่ทำให้ผู้ติดยาเสพติดหรือสมาชิกได้พัฒนาตนเอง โดยมีการจำลองครอบครัวขนาดใหญ่ เพื่อให้ผู้ที่ติดยามีโอกาสปรับปรุงตนเองในสถานที่ที่มีความอบอุ่น การบำบัดแบบนี้มี 3 ขั้นตอน คือ
1. ระยะจูงใจ ใช้เวลา 30 วัน เพื่อเตรียมความพร้อม
2. ระยะบำบัดรักษา ใช้เวลา 1- 11 เดือน หรือ 2 ปี คือ การให้ผู้ที่ติดยาเรียนรู้ความผิดและรู้จักวิธีการแก้ไขปัญหา
3. ระยะกลับเข้าสู้สังคม ใช้เวลา 3- 5 ปี เช่น การให้ผู้ตดยากลับไปใช้ชีวิตจริงในสังคม
•  การบำบัดแบบชีวบำบัด การบำบัดวิธีนี้ มีวัตถุประสงค์ให้ผู้ติดยาใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ด้วยการฝึกหัดอาชีพ
•  การบำบัดรักษาทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ คือการบำบัดรักษาในรูปแบบของการทำค่ายบำบัด ดังนั้นผู้ที่ผ่านค่ายบำบัดจะต้องได้รับการฟื้นฟูสภาพจิตใจและมีการติดตามผลอย่างสม่ำเสมอ

สำหรับผู้ติดยาสามารถเข้ารับการบำบัดรักษาได้ที่

            - สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนี (สถาบันธัญญารักษ์) โทรศัพท์ สายด่วน 1165 

              - สถานฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดบ้านพิชิตใจ สำนักงานป้องกันและบำบัดการติดยาเสพติด สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร โทรศัพท์ 0-2354-4233 เว็บไซต์ office.bangkok.go.th 

              - สำนักสงฆ์ถ้ำกระบอก จังหวัดสระบุรี โทรศัพท์ แผนกรักษายาเสพติด 036-266292 หรือ เฟซบุ๊ก thamkrabokfanpage  


              - ศูนย์บริการสาธารณสุข และคลินิกยาเสพติดทุกแห่งในสังกัดกรุงเทพมหานคร 

              - โรงพยาบาลของรัฐทุกแห่ง

              ทั้งนี้ สามารถตรวจสอบสถานที่บำบัดยาเสพติดทุกจังหวัด ได้ที่นี่ thanyarak.go.th 

วิธีการจัดการกับอาการอยากยา

           -พยายามควบคุมจิตใจตนเอง ค้นหาปัจจัยเสี่ยงที่กระตุ้นให้เกิดอาการอยากยา และต้องหลบเลี่ยงให้ได้ด้วยความอดทน

              -หากเริ่มมีอาการอยากยา ให้หยุดคิดทันที แล้วใช้การจินตนาการ นึกถึงเรื่องดี ๆ ที่ทำให้คุณมีความสุขแทนที่จะคิดถึงการใช้ยา 

              -เปลี่ยนสภาพแวดล้อม หรือหันไปหางานอดิเรกอื่น ๆ ทำ เพื่อจะได้ใช้สมาธิกับงานนั้น จะได้ไม่คิดถึงยาอีก เช่น ออกกำลังกาย เล่นกีฬา ฟังเพลง เล่นดนตรี ดูโทรทัศน์ ฯลฯ

              -คล้องหนังยางไว้ที่แขน หากคิดถึงยาให้ดีดหนังยางแรง ๆ และบอกตัวเองว่า "ไม่" เพื่อจะได้เตือนตัวเอง และหยุดความคิดนั้น

              -สวดมนต์ หรือนั่งสมาธิ ให้จิตสงบ เพ่งสมาธิไปที่ลมหายใจเข้า-ออกของตัวเอง 

              - โทรศัพท์หาคนที่ให้คำปรึกษาได้ คนที่เราไว้เนื้อเชื่อใจ ให้กำลังใจเราได้

              -ฝึกให้ตัวเองผ่อนคลาย ด้วยการสูดหายใจเข้าลึก ๆ ให้เต็มปอด จากนั้น หายใจออกช้า ๆ จนรู้สึกผ่อนคลาย

วิธีเลิกยาเสพติด

             แม้จะรู้อยู่แล้วว่า "ยาเสพติด" มีพิษร้าย แต่น่าตกใจจริง ๆ ที่ตัวเลขผู้ติดยากลับเพิ่มขึ้นทุกปี และยิ่งไปกว่านั้นก็คือ คนที่ติดยาเสพติดกลับมีอายุน้อยลงเรื่อย ๆ ทุกวันนี้มีเด็กชั้นประถมหลายคนตกเป็นทาสของยาเสพติดเสียแล้ว และนั่นก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดคดีอาชญากรรมเพิ่มขึ้นมาเป็นเงาตามตัว 
               อย่างไรก็ตาม หลายคนติดยาเพราะเพื่อนยุ บ้างก็แค่อยากลอง อยากสัมผัส ไม่ได้คิดจะเสพยาจริง ๆ แต่เมื่อลองไปแล้ว อยากจะเลิกก็เลิกไม่ได้ เพราะมีอาการลงแดง ไม่สามารถทนต่อความทรมานที่ไม่ได้ใช้ยาได้ แม้จะใช้วิธี "หักดิบ" เลิกยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดไปอย่างเด็ดขาด กลับยิ่งทำให้กลับมาเสพซ้ำอีก
              การเลิกยาเสพติดให้ได้ผลนั้น ผู้เสพยาจะต้องตั้งใจและอดทนว่าจะเลิกยาให้ได้ อย่าไปคิดถึงเรื่องการเสพยา หรือสัมผัสยาเสพติดอีกเด็ดขาด ต้องทิ้งอุปกรณ์การเสพยาให้หมด และหากมีเพื่อนที่ใช้ยาเสพติดอยู่ อย่าเพิ่งไปเจอ หรือพูดคุย เพราะเพื่อนที่เสพยาอยู่อาจเป็นตัวกระตุ้นให้ความตั้งใจของเราล้มเหลวได้

                  นอกจากนี้ ต้องตระหนักรู้ถึงความอยากยาของตัวเองให้เร็วที่สุด และหยุดความคิดไว้ตั้งแต่ก่อนจะรู้สึกอยากยา เพราะหากคิดถึงยา จะทำให้เกิดความรู้สึกอยากยา และมีโอกาสจะหันกลับไปใช้ยาเสพติดได้มาก ดังนั้นแล้ว ควรจะฝึกหยุดความคิดถึงยาเสพติด เพื่อปราบอาการอยากยา